ประวัติช่วงต้น ของ ซุน ยัตเซ็น

ซุน ยัตเซ็น (แถวหลัง, คนที่ห้าจากซ้าย) และครอบครัว

ชื่อ

ชื่อเกิดของท่านมีว่า ซุน เหวิน (อักษรจีน: 孫文) และชื่อทางการของเขาคือ ซุน เต๋อหมิง (อักษรจีน: 孫德明) ต่อมาเรียกว่า ซุน อี้เซียน (อักษรจีน: 孫逸仙) ซึ่งออกเสียงเป็น ซุน ยัตเซ็น ในภาษาจีนกวางตุ้ง มีความหมายว่า เทพเจ้าอิสระ โดยชื่อ ซุน ยัตเซ็น นั้นท่านได้เริ่มใช้เมื่อมีอายุ 33 ปี ส่วนภาษาจีนกลางเรียกเขาว่า ซุน จงซาน (อักษรจีน: 孫中山) นอกจากนี้เขาก็ใช้นามแฝงในวรรณกรรมว่า รื่อซิน (อักษรจีน: 日新) อีกด้วย [4]

วัยเด็ก และการศึกษา

ซุน ยัตเซ็นในวัย 17 ปี แต่งกายตามแบบแมนจู ช่วงสมัยราชวงศ์ชิง

ซุน ยัตเซ็น หรือ ดร. ซุน ยัตเซ็น เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866 ที่อำเภอจงซาน มณฑลกวางตุ้งของจีน ในครอบครัวชาวนาที่ยากจน ซึ่งมีเชื้อสายของพื้นหลังครอบครัวเป็นชาวจีนฮากกา[5] ครอบครัวของซุนต้องอาศัยอยู่ในกระต๊อบหลังเล็กที่ชายหมู่บ้านอาศัยมันเทศเป็นอาหารหลักแทนข้าว[6] ซุนมีลักษณะนิสัยเหมือนกับมารดา คือเป็นคนที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยชอบพูดจา พอซุนอายุ 7 ปีท่านก็ได้เรียนหนังสือ ต่อมาก็ได้มีบาทหลวงมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ท่านจึงได้คลุกคลีกับบาทหลวงเพื่อขอดูแผนที่และเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ซุนฉายแววเป็นคนฉลาดมาตั้งแต่เด็ก อ่านหนังสือเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ปรัชญา แล้วยังชอบที่จะอ่านแผนที่อีกด้วย ตั้งแต่ตัวท่านไม่ค่อยพูดเกี่ยวกับความสนใจเท่าใดนัก และไม่ชอบฟังเพลง ทางด้านการทานอาหาร ท่านชอบทานผักเนื้อปลา ไม่ชอบทานเผ็ด ผลไม้ที่ท่านชอบที่สุดคือส้มและสับปะรด

ปู่ของซุน ซุนจิ้งเสียนเป็นชาวนายากจนที่ต้องเช่านาเขาทำเพื่อความอยู่รอด บิดาของเขาซุนต๋าเฉิงต้องไปประกอบอาชีพเป็นช่างปะรองเท้าที่มาเก๊าในวัยหนุ่ม ต่อมาได้กลับบ้านเช่านาเขาทำ และเป็นยามในหมู่บ้านพร้อมกันไปด้วย ส่วนพี่ชายของเขาซุนเหมยเป็นคนงานในบ้านเจ้าของที่ดินในหมู่บ้านติดกัน

เมื่อซุนอายุได้ 10 ปี จึงได้เริ่มย้ายไปเรียนหนังสือที่ตลาด ในช่วงนั้นท่านมุมานะเรียนหนังสืออย่างตั้งใจ แม้แต่บิดาของซุนผู้ยากจนในอาชีพเกษตรกรรมจะมัธยัสถ์ ด้วยการประหยัดค่าน้ำมันที่ใช้จุดไฟในตอนกลางคืนที่มีแสงจันทร์ก็ตาม แต่ซุนก็ไม่ย่นย่อที่อ่านหนังสือตำราต่าง ๆ ภายใต้แสงสว่างของดวงจันทร์

ริเริ่มแนวความคิดต่อต้านราชวงศ์ชิง

ประเทศจีนในขณะนั้นปกครองโดยราชวงศ์ชิงที่เป็นชนต่างชาติชาวแมนจูเข้ามาปกครองประเทศจีนยาวนานนับทศวรรษ อีกทั้งช่วงนั้นถือหัวเลี้ยวหัวต่อที่สังคมศักดินาของจีนแปรเปลี่ยน เป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งศักดินา ความพ่ายแพ้และการยอมจำนนอันอัปยศในสงครามฝิ่นของรัฐบาลราชวงศ์ชิงสองครั้ง สองครา ทำให้ประเทศจีนสูญเสียเอกราชทางการเมืองและตกเป็นทาสทางเศรษฐกิจของทุนนิยมต่างชาติ ขณะเดียวกันการต่อสู้ของประชาชนจีนต่ออิทธิพลรุกรานของต่างชาติและอิทธิพลของศักดินาจีน ซุดยัดเซ็นต้องทำนาตั้งแต่อายุได้เพียง 6 ขวบ เริ่มเรียนหนังสือกับครูที่สอนในบ้านเมื่ออายุได้ 10 ขวบ

ในเวลานั้นมีนักรบผู้เฒ่าคนหนึ่งชื่อ ฝงส่วงกวาน ซึ่งเคยร่วมการปฏิวัติไท่ผิงเทียนกว๋อ มักจะเล่านิทานการโค่นบัลลังก์ราชวงศ์ชิงของหงซิ่วฉวน และหยางซิ่วซิงให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านฟังเสมอ พอเล่าถึงตอนก่อการที่จินเถียน ตั้งเมืองหลวงที่นานกิง และตีค่ายใหญ่ของทหารราชวงศ์ชิงฝั่งเหนือ และใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงแตก จนเจิงกว๋อฟานต้องกระโดดน้ำตาย เด็ก ๆ ก็ดีใจลิงโลด ซุนยัดเซ็นมีความสนใจเรื่องราวเกี่ยวการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของชาวนา อาทิ หงซิ่งฉวนและหยางซิ่วซิงเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่เยาว์วัย เวลานั้นซุดยัดเซ็นก็เริ่มรู้สึกว่า สังคมประเทศจีนในขณะนั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ยุติธรรม เขาเห็นเจ้าหน้าที่เกณฑ์เสบียงอาหารกับชาวบ้านบังคับเก็บภาษี หรือไม่ก็จับกุม ถูกรีดภาษีอากรเพิ่มทุกปี โดยชนชั้นปกครองราชวงศ์ไม่เคยทำประโยชน์ให้แก่ราษฎรแม้แต่น้อย การฉ้อราษฎร์บังหลวงข่มประชาชนและขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นศักดินาของประเทศจีนในอดีตนั้น ซุนยัดเซ็นในเยาว์วัยได้ประสบพบเห็นมาด้วยตัวเอง จึงทำให้เขาเริ่มเกิดความสงสัยและไม่พอใจมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

อยู่มาวันหนึ่งมีกรรมการอำเภอและตำรวจในราชสำนักชิงได้มาจับกุมผู้คนในหมู่บ้านไป 3 คน คนหนึ่งถูกลงโทษประหารตัดหัวกลางตลาด ส่วนอีก 2 คน ถูกจองจำไว้ ชาวบ้านต่างโกรธไม่พอใจในการที่ต่างไม่รู้ข้อหา และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทางบ้านเมืองของการจับผู้ต้องหา 3 คนนั้น ซุนจึงเดินนำออกไปคัดค้านและสอบถามข้อมูลของสาเหตุที่ผู้ต้องหาทั้ง 3 ถูกลงโทษแต่ทำให้เจ้าหน้าที่กรรมการอำเภอในราชวงศ์ชิงโกรธมากถึงกับด่าทอและทุบตีทำร้ายท่าน อีกทั้งยังใช้มีดพยายามที่จะแทงท่าน แต่ถือเป็นโชคของท่านที่สามารถหลบปลายมีดได้ทันและหนีออกมาได้ จึงเป็นวีรกรรมที่ท่านก่อขึ้นในขณะที่อายุยังน้อย

หลังจากก่อวีรกรรมดังกล่าวแล้วท่านได้พบกับเพื่อนสนิทคือ ลู่ เฮาตง ต่อมาในปี ค.ศ. 1871 ท่านก็ได้เดินทางไปเรียนที่เมืองโฮโนลูลู ฮาวาย และอยู่ทำงานกับ ซุนเหมย พี่ชายของเขาและกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่ได้อพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนไปประกอบชีพการค้าหรือไม่ก็เป็นแรงงานกุลีรับจ้างที่นั่น[7][8][9][10]ในปี ค.ศ. 1871 ซุนได้พลัดพรากจากบ้านเกิดไปหาเลี้ยงชีพยังหมู่เกาะฮาวายอันไกลโพ้น โดยแรก เริ่มทำงานในสวนผัก ไม่นานก็ไปเป็นคนงานในไร่ปศุสัตว์ จากนั้นได้หักร้างถางพงดำเนินกิจการคอกปศุสัตว์จนได้รับความสำเร็จกลายเป็น นายทุนชาวจีนโพ้นทะเลปีที่ซุนยัดเซ็นเกิดนั้น เป็นปีที่ 6 หลังจากทหารพันธมิตรอังกฤษ ฝรั่งเศสบุกเข้านครปักกิ่ง และเป็นปีที่ 2 หลังจากนครนานกิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของไท่ผิงเทียนกว๋อ (ขบวนการเมืองแมนแดนสันติ) ถูกยึดครอง

การศึกษาที่ฮาวาย

ซุน ยัดเซ็นเริ่มต้นชีวิตการศึกษาเมื่ออายุ 12 ปี โดยเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษา 2 แห่ง ที่เกาะฮาวาย ตอนที่เขาอายุได้ 12 ขวบ ซุนยัดเซ็นก็เดินทางไปฮาวายพร้อมกับมารดาเพื่อไปอาศัยอยู่กับพี่ชายของเขาที่นั่น การเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก ทำให้เขาได้เปิดหูเปิดตาสู่โลกภายนอกเขาเริ่มงานโดยเป็นลูกจ้างอยู่ในร้าน ขายของของพี่ชายที่คาฮูลูอิในเกาะมาอูอิ เขาได้เรียนรู้การทำบัญชีและดีดลูกคิด ทั้งหัดพูดภาษาท้องถิ่น ไม่นานซุนได้เข้าเรียนในโรงเรียนเปาโล

ปีถัดมาค.ศ. 1879 เขาก็ได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนมัธยมชายอิโอลันนี ซึ่งเป็นโรงเรียนของคริสต์จักรอังกฤษในฮอนโนลูลู จบการศึกษาปี ค.ศ. 1882[11]

ต่อจากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่โออาร์โฮไฮสกูล ซึ่งเป็นของคริสต์จักรอเมริกา ในการสอนของโรงเรียนดังกล่าวข้างต้นใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ซุนพากเพียรเรียนหนังสือวิชาต่าง ๆ จนได้เป็นนักเรียนที่มีคะแนนนิยมดีเด่น ในเวลาว่างนอกจากเรียนภาษาจีนด้วยตนเองยังชอบอ่านชีวประวัติของนักปฏิวัติชนชั้นนายทุน อาทิ ชีวประวัติของวอชิงตัน,ลินคอล์น ในเวลานั้นประชาชนฮาวายได้เกิดการรณรงค์ต่อสู้คัดค้านอเมริกา โดยเสนอคำขวัญว่า ฮาวายเป็นของชาวฮาวาย การโจมตีและขับไล่ศัตรูผู้รุกรานเกิดขึ้นทั่วไป การต่อสู้คัดค้านชาวอเมริกันผู้รุกรานอย่างห้าวหาญของประชาชนฮาวายที่ซุนได้ เห็นกับตา ทำให้เขาคิดถึงประเทศจีนที่ถูกจักรวรรดินิยมรุกราน และเกิดอุดมการณ์ในอันที่จะคัดค้านลัทธิอาณานิคมและเรียกร้องความเป็นเอกราชของประเทศจีน

เมื่อได้ศึกษาในต่างประเทศ เปิดโลกทัศน์ได้ซุนยัดเซ็นเห็นถึงการคัดค้านต่อสู้ทางการเมืองในหลายรูปแบบ จึงทำให้เกิดความคิดและแรงบันดาลใจที่จะกอบกู้ประเทศชาติ ในระหว่างที่อยู่ที่ฮาวายนี้ศึกษาซุนได้ศึกษาวิทยาศาสตร์ และศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้ง ทำให้ซุนเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนศาสนาขึ้นมา ความใกล้ชิดต่อคริสต์ศาสนา และห่างไกลจากลัทธิขงจื๊อซึ่งครอบครัวท่านยึดถือ ทำให้พี่ชายกังวลจนถึงขั้นแจ้งข่าวให้ทางบ้านทราบ และส่งตัวน้องชายกลับบ้าน

ซุนกลับประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. 1883 การที่ได้พำนักและศึกษาในต่างประเทศเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ซุนได้เห็นความเจริญต่าง ๆ ทำให้เขามีความรู้สึกว่า ความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ในสังคมจีนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และทำให้ซุนเกิดความปรารถนาที่จะพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตน เมื่อกลับสู่มาตุภูมิแล้ว ซุนพยายามปลุกระดมชาวบ้านให้เกิดความสำนึกที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยการโจมตีความเน่าเฟะของบ้านเมือง และขนบธรรมเนียมประเพณีอันล้าหลังของประเทศจีน อีกด้านหนึ่งเขาได้เริ่มลงมือพัฒนาการบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น ติดตั้งไฟส่องถนนหนทาง การวางเวรยามป้องกันโจรผู้ร้าย จากบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงในระยะแรกของเขาก็คือ เขาเห็นว่าความเชื่อโบราณของจีนเป็นเรื่องงมงาย ถึงขั้นทำลายเทวรูปในหมู่บ้าน และกล่าวว่าเป็นเพียงวัตถุไร้สาระที่ชาวบ้านงมงายอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อเกิดเป็นเรื่องวุ่นวาย เนื่องจากชาวบ้านโกรธแค้นอย่างมาก บิดาของซุนยัดเซ็นจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งตัวลูกชายไปศึกษาต่อที่ฮ่องกง[12] ขณะที่ท่านศึกษาที่ฮ่องกงขณะนั้นฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ท่านได้จบการศึกษาจากวิทยาลัยการแพทย์ตะวันตกในฮ่องกง ด้วยคะแนนจากการสอบไล่เป็นอันดับหนึ่ง ทำให้ท่านถูกขนานนามว่า ดร.ซุนยัตเซ็น

แหล่งที่มา

WikiPedia: ซุน ยัตเซ็น http://www.britannica.com/EBchecked/topic/573697/S... http://big5.chinanews.com:89/hb/2011/04-02/2950599... http://www.chinanews.com/n/2003-12-04/26/376869.ht... http://www.countriesquest.com/asia/china/history/i... http://www.medpointeducationgroup.com/university.p... http://www.tour-bangkok-legacies.com/soi-sun-yat-s... http://www.iolani.org/wn_aboutiolani_100305_cc.htm http://www.wanqingyuan.org.sg/ https://www.britannica.com/biography/Sun-Yat-sen https://books.google.com/books?id=B9rYW5xPYEwC&pg=...